ค้นหาโรงเรียน-เนอสเซอรี่
ป้อนข้อมูลโรงเรียน
Project A
Portfolio .. การประเมินผลสําหรับเด็กปฐมวัย

การประเมินผลเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย Portfolio เป็นการประเมินผลวิธีหนึ่งที่เป็นที่สนใจในกระบวนการประเมินผลในปัจจุบัน Portfolio คือการสะสมผลงานของเด็กอย่างมีจุดมุ่งหมายที่แสดงถึงความพยายามของนักเรียน ความก้าวหน้า ผลสัมฤทธิ์ของเด็กในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้าน การสะสมผลงานนี้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกชิ้นงาน โดยมีบรรทัดฐานหรือเหตุผลของการเลือกผลงานแต่ละชิ้น เกณฑ์ในการประเมินชิ้นงาน การบันทึกผลการสะท้อนผลงานโดยตัวของเด็ก

จุดมุ่งหมาย

ก่อนที่ครูจะดําเนินการประเมินผลในเด็กปฐมวัยด้วยระบบการประเมินแบบ Portfolio ครูจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของการสะสมผลงานเด็กใน Portfolio เช่น ผลงานเด็กใน Portfolio จะสนองตอบต่อความมุ่งหมายดังต่อไปนี้หรือไม่

1. เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ปกครอง
2. บ่งบอกถึงความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคน
3. เป็นสิ่งที่แสดงถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ของครู

ครูต้องมั่นใจและสามารถตรวจสอบได้ว่า Portfolio ที่จัดทําขึ้นมานั้นสนองตอบความมุ่งหมายดังที่กล่าวมาหรือไม่

การเก็บผลงานของเด็ก จะไม่เป็นการประเมินผล ถ้าผลงานแต่ละชิ้นไม่ได้รับการประเมินจากครู หรือคนอื่นๆ แฟ้ม กระเป๋า กล่อง หรือถุงนานาชนิด ที่เก็บชิ้นงานของเด็ก โดยชิ้นงานแต่ละชิ้น ไม่ได้รับการประเมิน จึงมิใช่การประเมินผล แต่เป็นการเก็บสะสมผลงานเท่านั้น เช่น แฟ้มสะสมงานขีดเขียน งานศิลปะจะเป็นเพียงแค่แฟ้มสะสมงานเด็ก

แฟ้มสะสมงานนี้จะเป็นเครื่องมือการประเมิน ต่อเมื่องานที่สะสมแต่ละชิ้น ถูกใช้ในการบ่งบอกความก้าวหน้า และความต้องการของเด็ก Portfolio จึงมิใช่เป็นเพียงแฟ้มสะสมงาน ที่เป็นการเก็บการรายงานที่คงที่ แต่เป็นแฟ้มสะสมงานนักเรียน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นการเก็บสะสมอย่างต่อเนื่องที่สร้างสรรค์โดยครูและนักเรียน

ครูสามารถใช้ Portfolio ในการสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างมีคุณค่า เพราะการเก็บผลงานเด็กอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอในแฟ้มสะสมงาน เป็นข้อมูลให้ผู้ปกครอง สามารถเปรียบเทียบความก้าวหน้า ที่ลูกของตนมีเพิ่มขึ้น จากผลงานชิ้นแรกในชิ้นต่อๆ มา ข้อมูลในแฟ้มสะสมงาน ประกอบด้วยตัวอย่างผลงานการขีดเขียน การวาด การอ่าน และข้อมูลในประเด็นบางประการ ของนักเรียนที่ครูเป็นผู้บันทึก เช่น จํานวนเล่มของหนังสือที่เด็กอ่าน ความถี่ของการเลือกอ่านที่มุมหนังสือในช่วงเวลาเลือกเสรี การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทัศนคติ เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้ จะสะท้อนภาพของความงอกงาม ในเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนกว่าเกรด A B C ครูจะต้องชี้แจงให้ผู้ปกครองทราบ ถึงที่มาของการเลือกชิ้นงานแต่ละชิ้น ที่สะสมในแฟ้มสะสมงานนี้ เช่น เป็นชิ้นงานที่ดีที่สุด ในช่วงระยะเวลาที่เลือกชิ้นงานนั้น ชิ้นงานที่แสดงของความต่อเนื่องของงานโครงการ ครูควรเชิญผู้ปกครองมีส่วนร่วม ในการคัดสรรชิ้นงานที่บรรจุในแฟ้มของเด็ก

Portfolio มีผลสะท้อนถึงการจัดกิจกรรมของครู ชิ้นงานใน Portfolio แสดงถึงสาระของกิจกรรมที่ครูจัดให้กับเด็ก ครูสามารถเลือกชิ้นงานจากเด็กที่มีความแตกต่างในระดับคุณภาพของงานที่ครอบคลุมทั้งคุณภาพสูง ปานกลาง และต่ำแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูเพื่อช่วยกันวิเคราะห์ถึงผลของกิจกรรมที่มีต่อเด็ก ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในครั้งต่อไป ครูยังสามารถเก็บชิ้นงานของนักเรียนเป็น Portfolio ของครูที่แสดงถึงผลการจัดการเรียนการสอนของครู

การดําเนินการและระบบการจัดเก็บข้อมูลใน Portfolio

ระบบการคัดเลือกชิ้นงานและการจัดเก็บชิ้นงาน แฟ้มสะสมนั้น เป็นสิ่งสําคัญที่จะส่งผลให้ Portfolio เป็นเครื่องมือในการประเมินได้ตรงตามจุดมุ่งหมาย ในแฟ้มสะสมงาน อาจประกอบด้วยผลงานการวาด การระบายสี ภาพถ่ายผลงานการต่อตัวต่อ หรือการสร้างบล็อกของเด็ก ภาพถ่ายหรือการถ่ายวิดีทัศน์ ที่เด็กปีนป่ายเครื่องเล่นสนาม การจดบันทึกหรือการถ่ายวิดีทัศน์ ที่เด็กโยนหรือรับลูกบอล จํานวนหนังสือที่เด็กอ่านหรือที่เด็กฟังครูอ่าน เรื่องราวหรือนิทานที่เด็กแต่งเอง หรือเขียนตามคําบอก

ตัวอย่างของกิจกรรมที่เด็กจําแนกสิ่งของ และบันทึกความเจริญงอกงามของทักษะทางสังคมของเด็ก การบันทึกจากการสังเกตโดยครู ประกอบชิ้นงานบางชิ้น จะสะท้อนถึงความเป็นมาของชิ้นงานที่ชัดเจนขึ้น เช่น เด็กได้ทํางานในงานเขียนชิ้นนั้น เป็นเวลา 4 วัน แต่ไม่เต็มใจที่จะทําการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังจากที่พูดคุยกับครู การบันทึกประกอบชิ้นงานจากครู เป็นข้อมูลที่ทําให้ภาพของชิ้นงานมีความชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงประสิทธิภาพของครู ต่อบทบาทของการเป็นครูในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งจะดึงศักยภาพของตัวผู้เรียนอย่างสูงสุด ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้

ระบบการจัดเก็บใน Portfolio ครูอาจแบ่งส่วน การเก็บประเภทของชิ้นงานเป็นประเภทต่างๆ เช่น พัฒนาการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาษาและวรรณกรรม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศิลปะและดนตรี และพัฒนาการทางด้านร่างกาย เป็นต้น หรือการจัดกลุ่มชิ้นงานเป็นประเภทตามการริเริ่ม เช่น กิจกรรมหรือชิ้นงาน ที่แสดงการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง การริเริ่มการเล่นที่ซับซ้อน

การนําเสนอที่สร้างสรรค์ เช่น การสร้าง การประดิษฐ์ การเล่นบทบาทสมมติ ความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่การอยู่ร่วมกับเพื่อนดนตรีและการเคลื่อนไหว เช่น เคลื่อนไหวอย่างมีความสัมพันธ์กันของร่างกาย เคลื่อนไหวตัวไปตามจังหวะ ภาษาและวรรณกรรม แสดงความสนใจในการอ่าน เริ่มต้นการอ่านและการเขียน ตรรกและคณิตศาสตร์ การจัดกลุ่ม การจัดประเภท การนับสิ่งของ บอกลําดับของเหตุการณ์

ระบบการจัดเก็บและการดําเนินการเก็บผลงานเด็ก ตลอดจนเกณฑ์ในการประเมินชิ้นงานของเด็กแต่ละชิ้นมีความยืดหยุ่นและหลากหลายวิธี แล้วแต่ธรรมชาติของครูและเด็กในชั้นเรียน ตลอดจนบริบทของการจัดการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อมของชั้นเรียน ฯลฯ สิ่งสําคัญในการจัดการ คือต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และดําเนินการให้ตอบสนองต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการประเมินผล

หลักที่ควรคํานึงถึง เพื่อให้การดําเนินการประเมินผลโดย Portfolio มีประสิทธิภาพ คือ

1. พัฒนาระบบการประเมินแบบ Portfolio ที่เอื้อให้นักเรียนเรียนวิธีการเรียน ดังนั้นใน Portfolio จะต้องมีข้อมูลที่บ่งบอกถึงการที่นักเรียนมีการสะท้อนผลงานโดยตัวของนักเรียนเอง

2. Portfolio เป็นการสะสมผลงานของนักเรียน โดยนักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติเอง ไม่ใช่ใครอื่นมาทําให้นักเรียน การประเมินโดย Portfolio จึงเป็นการปฏิบัติโดยนักเรียนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงการประเมินค้าในผลงานของตนเอง และตระหนักถึงคุณค่าการเรียนรู้จากการที่นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกชิ้นงานที่จะสะสมในแฟ้มสะสมงาน

3. Portfolio ต้องนําเสนอกิจกรรมของนักเรียนอย่างชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์ของการจัดทํา Portfolio เป้าหมายของการจัดเก็บข้อมูลที่จัดเก็บในแฟ้ม มาตรฐานของการประเมิน และการพิจารณาสาระที่ได้จากข้อมูลที่จัดเก็บ

4. วัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมงาน อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดปี เช่น ในระหว่างปีการศึกษานั้น แฟ้มสะสมงานเป็นเพียงที่เก็บงานที่ยังทําไม่เสร็จจากโครงการระยะยาว จนสิ้นปีการศึกษา แฟ้มสะสมผลงานจึงมีชิ้นที่สําเร็จสมบูรณ์เฉพาะชิ้นที่นักเรียนต้องการเผยแพร่ให้ผู้อื่นชมด้วย

5. Portfolio อาจสนองความมุ่งหมายที่หลากหลาย แต่ความมุ่งหมายเหล่านั้นต้องไม่ขัดแย้งกันผลงานที่เก็บในแฟ้มสะสมงานเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงเป้าหมายและความสนใจของนักเรียน แต่ขณะเดียว กันข้อมูลในแฟ้มสะท้อนถึงความสนใจของครู ผู้ปกครอง ตลอดจนคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการสะท้อนผลงานในแฟ้มนี้เป้าหมายที่โดดเด่นที่ สุดของแฟ้มสะสมงานของนักเรียน คือ แสดงถึงความก้าวหน้าของนัก เรียนที่แสดงถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษานั้น

6. ข้อมูลใน Portfolio ต้องแสดงถึงความก้าวหน้าของนักเรียน เช่น การเก็บชิ้นงานที่มีความต่อเนื่องที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่งอกงามขึ้นของนักเรียน บันทึกการสังเกตจากครูที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในการเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นๆ การอ่าน ตลอดจนบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของนักเรียนที่สะท้อนการเจริญเติบโตขึ้น

7. ทักษะและเทคนิคในการจัดทํา Portfolio ที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดจากการลงมือปฏิบัติที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และการเปลี่ยนความคิดและตัวอย่าง Portfolio ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาแฟ้มสะสมผลงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


หน้าแรก | โรงเรียน | เนอสเซอรี่ | ติวเข้าสาธิต/สอนเสริม | ลงโฆษณา | เพิ่มข้อมูล ร.ร./เนอสเซอรี่ | ติดต่อเรา