เปิดตำราวัดแววเด็กอัจฉริยะ ค้นหาไอน์สไตน์ได้ด้วยตัวคุณเอง
ด้วยระบบการศึกษาของชาติมีลักษณะเหมือน
"ฟาร์มไก่"
คือถูกเลี้ยงอยู่ในสภาวะแวดล้อมเหมือนกันหมด
ได้ทำให้สังคมไทยต้องสูญเสียบุคลากรที่น่าจะเติบโตขึ้นมาเป็น
"มันสมอง" ไปเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า "เด็กอัจฉริยะ"
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
นอกจากนั้น
ระบบที่เต็มไปด้วยความพิกลพิการเหล่านี้ยังไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะคัดกรองหรือแยกแยะบรรดาเด็กที่มีความสามารถพิเศษออกมาอีกต่างหาก
แต่ ณ เวลานี้
ปัญหาดังกล่าวน่าจะคลี่คลายไปได้ไม่น้อยเมื่อได้มีการจัดทำ
"คู่มือวัดแววเด็กความสามารถพิเศษ"
ขึ้นมา
ผศ.ดร.อุษณีย์
อนุรุทธ์วงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว)
ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ถ้ายังจำกันได้
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่จัดพิมพ์ขึ้นมาโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแหล่งชาติ(สกศ.)
ซึ่งมีคนเข้าใจผิดว่า
เป็นคู่มือค้นหาหรือทดสอบเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ความจริงไม่ใช่
หนังสือเล่มนั้น
เป็นเพียงการรวบรวมบุคลิกลักษณะของมนุษย์ซึ่งมีแววความสามารถต่างๆ
จำนวน 10 แววไว้ให้ครูใช้สังเกตเด็กในเบื้องต้น
แต่หนังสือที่ได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ในชื่อ
"ชุดสำรวจแววความสามารถพิเศษ"
"ขณะนี้เราไม่ได้เข้าใจว่า
จะหาคนที่มีความสามารถพิเศษออกมาได้อย่างไร ดังนั้น
จึงมีชุดสำรวจแววความสามารถพิเศษ
เพื่อให้โรงเรียนและครูนำไปสำรวจแววความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ
ของเด็กนักเรียนตั้งแต่ป.1 ถึง ม.6
เพื่อทราบถึงระดับความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ
และเพื่อที่โรงเรียนจะได้จัดการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ด้วย"
สำหรับหนังสือ
"ชุดสำรวจแววความสามารถพิเศษ" นั้น
แต่ละชุดมีสื่อและเครื่องมือการสำรวจ ดังนี้ คือ
1.หนังสือคู่มือสำรวจแววความสามารถพิเศษ
2.แบบสำรวจประกอบด้วยแบบสำรวจขั้นต้น 100 แผ่น
และแบบสำรวจเฉพาะแวว จำนวน 9 ด้าน
1.ความสามารถทางสังคม-อารมณ์
2.คณิตศาสตร์
3.กีฬา
4.ศิลปะ
5.ดนตรี
6.ภาษา
7.ช่างเทคนิคและอิเล็กทรอนิกส์
8.วิทยาศาสตร์
และ9.การคิด) ด้านละ50 ชุด
3.แผ่นซีดีโปรแกรมคอมพิวเตอร์
เพื่อช่วยในการสำรวจและประมวลผลแววความสามารถพิเศษของนักเรียน
ทั้งนี้
ผู้สนใจสามารถหาซื้อชุดสำรวจฯ ได้ตามร้านหนังสือทั่วไปในราคาชุดละ 700
บาท หรือสั่งซื้อได้ที่ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โทรศัพท์ 0-2512-4420
ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กอัจฉริยะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
จากการวิจัยพบว่า
มีเด็กที่มีความสามารถพิเศษอยู่ในทุกโรงเรียนและเกือบทุกชั้นเรียน
โดยเฉลี่ยอยู่ในอัตราส่วนประมาณร้อยละ 1 ของจำนวนเด็กทั้งหมด
ซึ่งจากการจัดตั้ง "ศูนย์อัจฉริยภาพร่วมกับสภากาชาดไทย"
ได้ค้นพบเด็กที่มีความสามารถพิเศษถึงกว่า 400 คนแล้ว ทั้งนี้
หากมีระบบส่งเสริมสนับสนุนให้ดีแล้ว
ประเทศไทยก็น่าจะมีอัจฉริยะบุคคลระดับไอน์สไตน์ได้
อย่างไรก็ตาม
ผลพวงของการจัดการศึกษาในโรงเรียนตามรูปแบบปัจจุบัน
ไม่เอื้อที่จะให้เด็กแสดงแววความสามารถได้
เนื่องจากเป็นการเรียนวิชาในตำรา
ขาดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายเพียงพอ
ทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษจำนวนมากไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้
ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาตนเองไปอย่างน่าเสียดาย
และยังส่งผลให้สังคมสูญเสียโอกาสที่จะได้คนเก่งมาร่วมพัฒนาประเทศด้วย
"ระบบการศึกษาของไทยเรานั้น
กำลังจัดระบบเหมือนฟาร์มไก่ที่เด็กเหมือนมีสรรพสัตว์อยู่หลายสิ่ง
แต่กลับถูกเลี้ยงและปลูกฝังให้เป็นเหมือนกัน ต้องทำตามระบบเดียวกัน
โดยไม่ได้แยกแยะความสนใจของเด็กแต่ละคนออกมา
คนที่จะเกิดปัญญาได้ก็จะต้องเป็นนักเรียน คือ มีความต้องการอยากเรียน
แต่ระบบการศึกษาสร้างไมโครชิฟให้เด็กต้องทำตาม ซึ่งคนไม่ใช่วัตถุ"
เมื่อเด็กเหล่านี้อยู่ในระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อ
ก็ส่งผลทำให้ศักยภาพของตัวเองต่ำลง บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย
เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งขณะนี้มีกรณีเช่นนี้อยู่ประมาณ 5
คนในศูนย์อัจฉริยภาพเด็กร่วมกับสภากาชาดไทย
นอกจากนั้น
ยังพบว่ามีครูผู้สอนจำนวนหนึ่งที่เกิดความรู้สึกอิจฉาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
โดยเห็นว่าในเมื่อเด็กเก่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาถาม
ซึ่งตรงนี้ถือว่าอันตรายมาก
"อยากฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ในการเร่งออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการเทียบโอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม
เครือข่ายที่ร่วมกับศูนย์อัจฉริยภาพนั้นจะต้องทำงานร่วมกัน
ไม่ใช่ทำแต่เฉพาะเรื่องของสถาบันใดสถาบันหนึ่งเท่านั้น
รวมทั้งขณะนี้กำลังจัดเตรียมสร้างธนาคารหลักสูตร เพื่อสะสม
สร้างและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความสามารถพิเศษของเด็กเหล่านี้
โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จำนวน 15 ล้านบาท
ซึ่งถือมีความสำคัญที่รัฐเองต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย"ผศ.ดร.อุษณีย์ให้ความคิดเห็นทิ้งท้าย |