|
หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่ |
Montessori
ที่อนุบาลกรแก้ว |
ภาพของหนูน้อยแต่ละคนค่อยๆหยิบเสื่อมาคลี่ปูบนพื้นห้อง
จากนั้นเดินไปหยิบอุปกรณ์ที่ตนสนใจมานั่งทำงานไปจนจบกระบวนการ
จากชิ้นหนึ่งไปยังอีกชิ้นหนึ่ง คือภาพที่เกิดขึ้นจนเจนตาในห้องเรียนมอนเตสซอรี่ของอนุบาลกรแก้ว
ที่นี่ไม่มีเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว จะมีก็แต่บรรยากาศที่สงบ
เด็กๆต่างคนต่างทำงานของตัวเองไปโดยไม่มีการรบกวนเพื่อน |
|
15
ปีของโรงเรียนอนุบาลกรแก้วล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย
แต่ก็ยังยืนหยัดอยู่กับการเป็นโรงเรียนแนวมอนเตสซอรี่อย่างไม่ย่อท้อ
เพราะความมุ่งมั่นของผูบริหารโรงเรียนอย่างอาจารย์คำแก้ว ไกรสรพงษ์
"สิ่งที่ประทับใจในมอนเตสซอรี่คือการที่เราเห็นเด็กเรียนอย่างมีความสุข"
อาจารย์คำแก้วกล่าว |
|
ความประทับใจในแนวการสอนมอนเตสซอรี่นี้เองที่ทำให้เจ้าของโรงเรียนอนุบาลกรแก้วลงทุนสมัครเรียนทางไปรษณีย์กับสถาบันมอนเตสซอรี่ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาหนึ่งปี
จากนั้นจึงเดินทางไปฝึกงานที่นั่นอีกหนึ่งปี
จบกลับมาจึงนำเอาแนวความคิดดังกล่าวมาพัฒนาโรงเรียนร่วมกับ รศ.ดร.จีระพันธุ์
พูลพัฒน์ แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านการสอนแนวมอนเตสซอรี่โดยตรงและมีประสบการณ์ฝึกสอนในโรงเรียนดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา |
อาจารย์คำแก้วและอาจารย์จีระพันธุ์ร่วมกันพลิกโรงเรียนอนุบาลกรแก้ว
เริ่มต้นจากการอบรมครูให้รู้ซึ้งถึงแนวคิดของมอนเตสซอรี่ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
อาจารย์คำแก้วเล่าว่า
ระยะแรกความยากลำบากมากที่สุดหนีไม่พ้นการเปลี่ยนทัศนคติและความเคยชินของครูเก่าๆในโรงเรียน
จึงไม่แปลกที่ช่วงแรกนี้จะมีครูลาออกจำนวนมาก
สุดท้ายทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น
แต่ยังต้องฝึกฝนกันอยู่เรื่อยๆ
แม้ทุกวันนี้ครูของอนุบาลกรแก้วยังต้องทดสอบหลักการและปรัชญาแนวคิดของมอนเตสซอรี่
รวมถึงการใช้อุปกรณ์ชิ้นต่างๆทุกภาคการศึกษา |
|
เด็กในโรงเรียนอนุบาลกรแก้วจะถูกแบ่งกลุ่มออกเป็น 6-8 คน ดดยการคละตามอายุตามทฤษฎีของมอนเตสซอรี่
ในแต่ละวันพวกเขาจะเวียนกันทำกิจกรรมกลุ่มต่างๆซึ่งมีทั้งหมด 12
กลุ่มจนครบ แบ่งออกเป็น กลุ่มพืชผักสวนครัว กิจกรรมกลางแจ้ง ประกอบอาหาร
วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมไทย ห้องสมุด เกมการศึกษา ว่ายน้ำ
และห้องเรียนมอนเตสซอรี่ซึ่งมีทั้งหมด 4 ห้องด้วยกัน
ทุกคนจะใช้เวลาในการทำกิจกรรมกลุ่มต่างๆประมาณ 20 นาที
และใช้เวลาทำงานในห้องมอนเตสซอรี่มากกว่ากิจกรรมอื่น คือ 60 นาที |
|
อาจารย์คำแก้วให้เหตุผลในการที่โรงเรียนเลือกจัดกิจกรรมออกเป็นกลุ่มต่างๆว่า
เนื่องจากต้องการกระจายเด็กแต่ละกลุ่มให้มีจำนวนน้อยลง
ซึ่งจะทำให้ครูสามารถดูแลเด็กเป็นรายบุคคลได้ดียิ่งขึ้น
ที่นี่ยังมีการดัดแปลงอุปกรณ์บางชิ้น
โดยเฉพาะอุปกรณ์ในกลุ่มประสบการณ์ชีวิต โดยหันมาใช้วัสดุในท้องถิ่นแทน
เช่นการใช้ภาชนะที่ทำจากเครื่องจักสาน หรือทำจากกะลามะพร้าว เป็นต้น
ซึ่งมอนเตสซอรี่เปิดโอกาสให้ทำได้แต่ต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้โดยการใช้อุปกรณ์ชิ้นนั้นเป็นหลัก
|
ในส่วนการเตรียมแผนการสอน
ครูของอนุบาลกรแก้วจะไม่มีการเขียนแผนการสอนล่วงหน้า
เพราะครูจะไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าเด็กคนไหนจะสนใจเรื่องใด
หรือพร้อมมากน้อยแค่ไหนในวันนั้นๆ
สิ่งที่เตรียมได้ล่วงหน้าจึงได้แก่แบบฝึกหัดเรียนเขียนอ่านที่มีไว้สำหรับเด็กที่มีความพร้อมและต้องการจะเรียนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่มอนเตสซอรี่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่แน่นอน
จะช่วยให้ครูสามารถกำหนดแผนการสอนคร่าวๆในใจล่วงหน้าได้เช่นกัน
ด้านการประเมินผลของที่นี่
จะใช้ใบประเมินผลซึ่งเน้นการประเมินพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆเป็นหลัก |
|
แม้ปัจจุบันอนุบาลกรแก้วได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบแนวมอนเตสซอรี่ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมาดูงานอย่างต่อเนื่อง
แต่ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์คำแก้ว ไกรสรพงษ์ กล่าวว่า
โรงเรียนของเธอยังไม่ถือว่าสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซนต์เต็ม
เนื่องจากความเคยชินของครูไทยที่อดจะชมเชยหรือช่วยเหลือเด็กไม่ได้
รวมไปถึงการใช้เสียงดังของครูในห้องเรียนซึ่งเป็นข้อพึงระมัดระวังของครูมอนเตสซอรี่
|
|
เมื่อถามถึงข้อโจมตีที่มีต่อระบบมอนเตสซอรี่ในเรื่องของการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก
และการที่เด็กขาดความคิดสร้างสรรค์นั้น
ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลกรแก้วยืนยันจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เฝ้าสังเกตเด็ก
เห็นได้ชัดเจนว่า พวกเขารู้จักที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
พูดคุยกันระหว่างทำงาน
และมีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้อุปกรณ์ในลักษณะพลิกแพลงต่างจากที่ครูสาธิต
ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าข้อด้อยที่ถูกวิพากษณ์วิจารณ์อาจสวนทางกับความจริงที่เกิดขึ้น |
เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ในประเทศเช่นเยอรมนี สหรัฐอเมริกา
นำเอาการสอนแนวมอนเตสซอรี่ไปใช้ถึงระดับมัธยมศึกษาแล้วก็ตาม
แต่ในเมืองไทยระบบนี้ยังคงจำกัดอยู่ในระบบอนุบาลเท่านั้น
อีกทั้งยังหาโรงเรียนแนวมอนเตสซอรี่ขนานแท้ที่นำเอาทั้งปรัชญา หลักสูตร
และอุปกรณ์การสอนแบบมอนเตสซอรี่มาใช้อย่างเต็มรูปแบบไม่มากนัก |
|
ผู้บริหารโรงเรียนกรแก้ววิเคราะห์ให้ฟังว่า
เกิดจากสาเหตุสำคัญหลายประการ กล่าวคือ ขาดแคลนครู
ซึ่งจะต้องได้รับการฝึกฝนเป็นการเฉพาะ อีกทั้งอุปกรณ์มอนเตสซอรี่มีราคาค่อนข้างสูง
และประการสำคัญคือ
ทัศนคติของผู้ปกครองไทยที่ต้องการเร่งลูกให้เรียนเขียนอ่านเพื่อสอบเข้า
ป.1 ซึ่งโรงเรียนของเธอเองก็พบอุปสรรคนี้เช่นกัน
จึงต้องหาทางออกด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเป็นรายบุคคลก่อนรับสมัครเด็กเข้าเรียน
"ผู้ปกครองไทยส่วนใหญคาดหวังให้ลูกอ่านออกเขียนได้เพื่อสอบเข้าเรียนต่อ
แต่มอนเตสซอรี่เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็กเรียน
แต่เขาสามารถเรียนทุกอย่างได้เมื่อเขาพร้อม ถ้าเราไปเคี่ยวเข็ญเขา
จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาเรียนไม่ได้ และกลายเป็นความล้มเหลวในชีวิต"
ผู้บริหารโรงเรียนกรแก้วกล่าวทิ้งท้าย |
บทความจากสานปฏิรูป ปีที่ 2 ฉบับที่ 18 เดือนกันยายน 2542 |
|
|
|
ส่งเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมได้ที่ |
|
|
|