โรงเรียน/เนอสเซอรี่ กทม ภาคกลาง ภาคเหนือ
อีสาน ตะวันออก ภาคใต้ สอนเสริม เล่าสู่กันฟัง
 
 

 
 
       
 
 

 

 
 
       
 
 

 
 

เว็บ tataya เต็มรูปแบบ คลิกได้ที่นี่


 
Portfolio การประเมินผลสําหรับเด็กปฐมวัย
 
การประเมินผลเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัย Portfolio เป็นการประเมินผลวิธีหนึ่งที่เป็นที่สนใจในกระบวนการประเมินผลในปัจจุบัน Portfolio คือการสะสมผลงานของเด็กอย่างมีจุดมุ่งหมายที่แสดงถึงความพยายามของนักเรียน ความก้าวหน้า ผลสัมฤทธิ์ของเด็กในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้าน การสะสมผลงานนี้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกชิ้นงาน โดยมีบรรทัดฐานหรือเหตุผลของการเลือกผลงานแต่ละชิ้น เกณฑ์ในการประเมินชิ้นงาน การบันทึกผลการสะท้อนผลงานโดยตัวของเด็ก
 
  จุดมุ่งหมาย
ก่อนที่ครูจะดําเนินการประเมินผลในเด็กปฐมวัยด้วยระบบการประเมินแบบ Portfolio ครูจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายของการสะสมผลงานเด็กใน Portfolio เช่น ผลงานเด็กใน Portfolio จะสนองตอบต่อความมุ่งหมายดังต่อไปนี้หรือไม่
 
  • เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ปกครอง
  • บ่งบอกถึงความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคน
  • เป็นสิ่งที่แสดงถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ของครู

ครูต้องมั่นใจและสามารถตรวจสอบได้ว่า Portfolio ที่จัดทําขึ้นมานั้นสนองตอบความมุ่งหมายดังที่กล่าวมาหรือไม่

 

การเก็บผลงานของเด็กจะไม่เป็นการประเมินผล ถ้าผลงานแต่ละชิ้นไม่ได้รับการประเมินจากครูหรือคนอื่นๆ แฟ้ม กระเป๋า กล่องหรือถุงนานาชนิดที่เก็บชิ้นงานของเด็ก โดยชิ้นงานแต่ละชิ้นไม่ได้รับการประเมินจึงมิใช่การประเมินผล แต่เป็นการเก็บสะสมผลงานเท่านั้น เช่น แฟ้มสะสมงานขีดเขียน งานศิลปะจะเป็นเพียงแค่แฟ้มสะสมงานเด็ก

 
แฟ้มสะสมงานนี้จะเป็นเครื่องมือการประเมินต่อเมื่องานที่สะสมแต่ละชิ้นถูกใช้ในการบ่งบอกความก้าวหน้าและความต้องการของเด็ก Portfolio จึงมิใช่เป็นเพียงแฟ้มสะสมงานที่เป็นการเก็บการรายงานที่คงที่ แต่เป็นแฟ้มสะสมงานนักเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นการเก็บสะสมอย่างต่อเนื่องที่สร้างสรรค์โดยครูและนักเรียน
 
ครูสามารถใช้ Portfolio ในการสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างมีคุณค่า เพราะการเก็บผลงานเด็กอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในแฟ้มสะสมงานเป็นข้อมูลให้ผู้ปกครองสามารถเปรียบเทียบความก้าวหน้าที่ลูกของตนมีเพิ่มขึ้นจากผลงานชิ้นแรกในชิ้นต่อๆ มา ข้อมูลในแฟ้มสะสมงานประกอบด้วยตัวอย่างผลงานการขีดเขียน การวาด การอ่าน และข้อมูลในประเด็นบางประการของนักเรียนที่ครูเป็นผู้บันทึก เช่น จํานวนเล่มของหนังสือที่เด็กอ่าน ความถี่ของการเลือกอ่านที่มุมหนังสือในช่วงเวลาเลือกเสรี การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทัศนคติ เป็นต้น
 
ข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนภาพของความงอกงามในเด็กแต่ละคนได้ชัดเจนกว่าเกรด A B C ครูจะต้องชี้แจงให้ผู้ปกครองทราบถึงที่มาของการเลือกชิ้นงานแต่ละชิ้นที่สะสมในแฟ้มสะสมงานนี้ เช่น เป็นชิ้นงานที่ดีที่สุดในช่วงระยะเวลาที่เลือกชิ้นงานนั้น ชิ้นงานที่แสดงของความต่อเนื่องของงานโครงการ ครูควรเชิญผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการคัดสรรชิ้นงานที่บรรจุในแฟ้มของเด็ก
 
Portfolio มีผลสะท้อนถึงการจัดกิจกรรมของครู ชิ้นงานใน Portfolio แสดงถึงสาระของกิจกรรมที่ครูจัดให้กับเด็ก ครูสามารถเลือกชิ้นงานจากเด็กที่มีความแตกต่างในระดับคุณภาพของงานที่ครอบคลุมทั้งคุณภาพสูง ปานกลาง และต่ำแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูเพื่อช่วยกันวิเคราะห์ถึงผลของกิจกรรมที่มีต่อเด็ก ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในครั้งต่อไป ครูยังสามารถเก็บชิ้นงานของนักเรียนเป็น Portfolio ของครูที่แสดงถึงผลการจัดการเรียนการสอนของครู
 
การดําเนินการและระบบการจัดเก็บข้อมูลใน Portfolio
 
ระบบการคัดเลือกชิ้นงานและการจัดเก็บชิ้นงาน แฟ้มสะสมนั้นเป็นสิ่งสําคัญที่จะส่งผลให้ Portfolio เป็นเครื่องมือในการประเมินได้ตรงตามจุดมุ่งหมาย ในแฟ้มสะสมงานอาจประกอบด้วยผลงานการวาด การระบายสี ภาพถ่ายผลงานการต่อตัวต่อ หรือการสร้างบล็อกของเด็ก ภาพถ่ายหรือการถ่ายวิดีทัศน์ที่เด็กปีนป้ายเครื่องเล่นสนาม การจดบันทึกหรือการถ่ายวิดีทัศน์ที่เด็กโยนหรือรับลูกบอล
 
จํานวนหนังสือที่เด็กอ่านหรือที่เด็กฟังครูอ่าน เรื่องราวหรือนิทานที่เด็กแต่งเองหรือเขียนตามคําบอก ตัวอย่างของกิจกรรมที่เด็กจําแนกสิ่งของ และบันทึกความเจริญงอกงามของทักษะทางสังคมของเด็ก การบันทึกจากการสังเกตโดยครู ประกอบชิ้นงานบางชิ้นจะสะท้อนถึงความเป็นมาของชิ้นงานที่ชัดเจนขึ้น
 
เช่น เด็กได้ทํางานในงานเขียนชิ้นนั้นเป็นเวลา 4 วัน แต่ไม่เต็มใจที่จะทําการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังจากที่พูดคุยกับครู การบันทึกประกอบชิ้นงานจากครูเป็นข้อมูลที่ทําให้ภาพของชิ้นงานมีความชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงประสิทธิภาพของครูต่อบทบาทของการเป็นครูในยุคปัจจุบันที่มุ่งจะดึงศักยภาพของตัวผู้เรียนอย่างสูงสุด ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้
 
ระบบการจัดเก็บใน Portfolio ครูอาจแบ่งส่วนการเก็บประเภทของชิ้นงานเป็นประเภทต่างๆ เช่น พัฒนาการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาษาและวรรณกรรม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศิลปะและดนตรี และพัฒนาการทางด้านร่างกาย เป็นต้น หรือการจัดกลุ่มชิ้นงานเป็นประเภทตามการริเริ่ม เช่น กิจกรรมหรือชิ้นงานที่แสดงการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง การริเริ่มการเล่นที่ซับซ้อน การนําเสนอที่สร้างสรรค์ เช่น การสร้าง การประดิษฐ์ การเล่นบทบาทสมมติ ความสัมพันธ์ทางสังคม
 
เช่น ความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่การอยู่ร่วมกับเพื่อนดนตรีและการเคลื่อนไหว เช่น เคลื่อนไหวอย่างมีความสัมพันธ์กันของร่างกาย เคลื่อนไหวตัวไปตามจังหวะ ภาษาและวรรณกรรม แสดงความสนใจในการอ่าน เริ่มต้นการอ่านและการเขียน ตรรกและคณิตศาสตร์ การจัดกลุ่ม การจัดประเภท การนับสิ่งของ บอกลําดับของเหตุการณ์
 
ระบบการจัดเก็บและการดําเนินการเก็บผลงานเด็ก ตลอดจนเกณฑ์ในการประเมินชิ้นงานของเด็กแต่ละชิ้นมีความยืดหยุ่นและหลากหลายวิธี แล้วแต่ธรรมชาติของครูและเด็กในชั้นเรียน ตลอดจนบริบทของการจัดการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อมของชั้นเรียน ฯลฯ สิ่งสําคัญในการจัดการ คือต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และดําเนินการให้ตอบสนองต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการประเมินผล
 
หลักที่ควรคํานึงถึง เพื่อให้การดําเนินการประเมินผลโดย Portfolio มีประสิทธิภาพ คือ
 
1. พัฒนาระบบการประเมินแบบ Portfolio ที่เอื้อให้นักเรียนเรียนวิธีการเรียน ดังนั้นใน Portfolio จะต้องมีข้อมูลที่บ่งบอกถึงการที่นักเรียนมีการสะท้อนผลงานโดยตัวของนักเรียนเอง
 
2. Portfolio เป็นการสะสมผลงานของนักเรียน โดยนักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติเอง ไม่ใช่ใครอื่นมาทําให้นักเรียน การประเมินโดย Portfolio จึงเป็นการปฏิบัติโดยนักเรียนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงการประเมินค้าในผลงานของตนเอง และตระหนักถึงคุณค่าการเรียนรู้จากการที่นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกชิ้นงานที่จะสะสมในแฟ้มสะสมงาน
 
3 . Portfolio ต้องนําเสนอกิจกรรมของนักเรียนอย่างชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์ของการจัดทํา Portfolio เป้าหมายของการจัดเก็บข้อมูลที่จัดเก็บในแฟ้ม มาตรฐานของการประเมิน และการพิจารณาสาระที่ได้จากข้อมูลที่จัดเก็บ
 

4. วัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมงาน อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดปี เช่น ในระหว่างปีการศึกษานั้น แฟ้มสะสมงานเป็นเพียงที่เก็บงานที่ยังทําไม่เสร็จจากโครงการระยะยาว จนสิ้นปีการศึกษา แฟ้มสะสมผลงานจึงมีชิ้นที่สําเร็จสมบูรณ์เฉพาะชิ้นที่นักเรียนต้องการเผยแพร่ให้ผู้อื่นชมด้วย

 
5 . Portfolio อาจสนองความมุ่งหมายที่หลากหลาย แต่ความมุ่งหมายเหล่านั้นต้องไม่ขัดแย้งกันผลงานที่เก็บในแฟ้มสะสมงานเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงเป้าหมายและความสนใจของนักเรียน แต่ขณะเดียว
กันข้อมูลในแฟ้มสะท้อนถึงความสนใจของครู ผู้ปกครอง ตลอดจนคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการสะท้อนผลงานในแฟ้มนี้เป้าหมายที่โดดเด่นที่ สุดของแฟ้มสะสมงานของนักเรียน คือ แสดงถึงความก้าวหน้าของนัก
เรียนที่แสดงถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษานั้น
 
6. ข้อมูลใน Portfolio ต้องแสดงถึงความก้าวหน้าของนักเรียน เช่น การเก็บชิ้นงานที่มีความต่อเนื่องที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่งอกงามขึ้นของนักเรียน บันทึกการสังเกตจากครูที่แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในการเป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่นๆ การอ่าน ตลอดจนบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของนักเรียนที่สะท้อนการเจริญเติบโตขึ้น
 
7. ทักษะและเทคนิคในการจัดทํา Portfolio ที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดจากการลงมือปฏิบัติที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และการเปลี่ยนความคิดและตัวอย่าง Portfolio ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาแฟ้มสะสมผลงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
 

 

^ UP ^

 
เว็บในเครือ
รวมตลาดนัด
สนามหลวง 2
ท่องเที่ยวกับ My City
Mom & Child's Catalog
Pet Catalog
ball Thai