ค้นหาโรงเรียน-เนอสเซอรี่
ป้อนข้อมูลโรงเรียน
Project A
รู้ได้อย่างไร ว่าลูกเป็นไข้เลือดออก

โรคไข้เลือด ออกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ที่ชื่อว่า เดงกี (Dengue) ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 โดยมีพาหะนำโรค คือเจ้ายุงลาย พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่พบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วง เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของยุงลาย

วัยใส ... วัยแพ้ภัยเจ้ายุงลาย จากข้อมูลสถิติพบว่า ช่วงวัยของผู้ป่วยที่แพ้ภัยเจ้ายุงลายนี้ อยู่ในช่วงอายุ 5-14 ปี โดยกลุ่มอายุ ที่พบมากที่สุดคือ 5-9 ปี ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะพบในกลุ่มอายุที่มากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าร่างกายจะได้ รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเข้าไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการถึงร้อยละ 85-90

อย่างไรก็ดี การป้องกันไว้ย่อมดีกว่า เพราะถ้าหากว่า ภูมิต้านทานของเจ้าหนู เกิดตกเป็นรอง เจ้าเชื้อไวรัสไข้เลือดออกขึ้นมา ลูกน้อยก็จะเกิดการ เจ็บป่วยขึ้นได้ ดังนั้นเรามารู้ทัน อาการของโรคนี้กันดีกว่า

จะรู้ได้ยังไง...ว่าลูกเป็นไข้ (เลือดออก) หรือเปล่า ในกลุ่มที่มีอาการสามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1. อาการที่เหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วๆ ไป ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก อาจมีอาการไข้อย่างเดียว หรืออาจมีผื่นร่วมด้วย

2. ไข้แดงกี มักพบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ และปวดกระดูก โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรง

3. ไข้เลือดออก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด กรณีที่มีการรั่วมาก อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ ช็อกได้

เรามีวิธีสังเกตสัญญาณการรุกรานของไข้เลือดออกมาฝากค่ะ การดำเนินโรคของไข้เลือดออกแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง จะมีอาการไข้สูงประมาณ 2-7 วัน สามารถสังเกตได้คือแม้จะกินยาลดไข้ยังไง ไข้ก็ไม่ยอมลด เนื้อตัวและใบหน้าจะแดงกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ หรือมีผื่นขึ้น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจพบว่ามีจุดเลือดออกตามตัว

ระยะที่ 2 ระยะวิกฤต คือหลังจากที่มีไข้สูงระยะหนึ่งแล้ว ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว และจะมีการรั่วของพลาสมา หรือน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงค่ะ ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีการรั่วของพลาสมาเป็นจำนวนมาก และถ้าให้สารน้ำโดยการกินหรือน้ำเกลือทางเส้นเลือดทดแทนไม่ทัน ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะความดันโลหิตต่ำหรือที่เรียกว่าช็อกได้

ระยะที่ 3 ระยะพักฟื้น เป็นระยะที่มีการดูดกลับของพลาสมาเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการโดยทั่วไปดีขึ้น โดยสังเกตได้ดังนี้ คนไข้เจริญอาหารมากขึ้น ชีพจรเต้นช้าลง ในผู้ป่วยบางราย จะพบมีผื่นขึ้นตามร่างกาย เรียกว่าผื่นในระยะพักฟื้น ปัสสาวะออกมากขึ้น เมื่อเทียบกับระยะวิกฤต

หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการข้างต้น ก็ถือว่ากำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ตามปกติในช่วงระยะพักฟื้น คุณหมอจะหยุดการให้สารน้ำหรือน้ำเกลือทางเส้นเลือด มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะน้ำเกินได้

แล้วจะให้การวินิจฉัยได้อย่างไร?

เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ การเฝ้าติดตามสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จะได้พาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์ได้ทันเวลาและได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป

การวินิจฉัยโดยใช้อาการทางคลินิกร่วมกับการตรวจนับเม็ดเลือด โดยดูการเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด จะช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยได้ถึงร้อยละ 95 และมักจะชัดเจนขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีไข้มาแล้วโดยเฉลี่ยประมาณ 3-8 วัน

การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี ในปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลโฆษณาและสามารถให้บริการการตรวจประเภทนี้ได้ ซึ่งเป็นการตรวจที่มีราคาแพง จะได้ผลดีถ้าตรวจในระยะที่ผู้ป่วยยังมีไข้หรือในช่วงแรกของการเจ็บป่วยนั่นเอง

อีกประเภทหนึ่งคือการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เป็นการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัย บางวิธีต้องเจาะเลือดตรวจ 2 ครั้ง ห่างกัน 1-2 สัปดาห์ จึงไม่ได้ช่วยในการรักษาของคุณหมอเท่าใดนัก เพราะคนไข้หายป่วยกลับบ้านไปแล้วผลการตรวจจึงจะกลับมา แต่เป็นการตรวจที่ราคาไม่แพง

เมื่อทราบดังนี้แล้ว ควรพิจารณาว่าการตรวจเหล่านี้ มีความจำเป็นต่อลูกน้อยที่ป่วยเป็นไข้มากน้อยเพียงใด ควรสอบถามข้อมูลจากคุณหมอให้เข้าใจ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

รู้ทัน...รักษาได้

การรักษายังคงเป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น แต่การรักษาที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่และเฝ้าระวังติดตามอาการของโรคตามที่คุณหมอแนะนำ

** ระยะไข้สูงลอย**

เป็นระยะสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตอาการ การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้การดูแลสุขภาพของเจ้าตัวเล็กอย่างใกล้ชิด เมื่อพบว่าลูกเป็นไข้สูงลอย ให้กินยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวให้บ่อย ๆ เพื่อลดไข้ แต่มีข้อห้ามที่สำคัญคือ ห้ามกินยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มลดไข้สูง เนื่องจากมีผลทำให้เลือดออกง่ายขึ้น รับประทานอาหารตามปกติและพักผ่อนอย่างเพียงพอพยายามให้เจ้าหนูรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดูดซึมง่าย

** ระยะวิกฤต**

ในช่วงท้ายของระยะไข้สูงลอยประมาณ วันที่ 3-5 หลังจากเริ่มมีไข้ ขอให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตอาการให้ดี ถ้าเจ้าหนูมีอาการผิดปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว คุณหมอจะทำการประเมินอย่างละเอียด และจะให้สารน้ำทางเส้นเลือดเพื่อทดแทนพลาสมาที่สูญเสียไป ป้องกันไม่ให้เข้าสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำหรือช็อก ใช่ว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกทุกรายนั้นจะมีอาการรุนแรงเช่นนี้เสมอไป เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงพบได้เป็นส่วนน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาท

รู้ทัน...ป้องกันได้

กำจัดลูกน้ำยุงลาย บอกเจ้าหนูว่ายุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่ง ชวนให้เขาช่วยเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ อ่างเลี้ยงปลา ปิดฝาภาชนะใส่น้ำต่างๆ ให้มิดชิด สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวหนู เช่น ห้องนอน ควรมีมุ้งลวดกันเจ้ายุงมาเกาะแกะ ดูแลตัวเองและคนที่หนูรัก ตัวหนูก็ต้องคอยดูแลสุขภาพตัวเองนะคะ ต้องหม่ำอาหารที่มีประโยชน์ และนอนลับพักผ่อนให้เพียงพอ หวังว่าคงคลายกังวลถึงภัยร้ายของเจ้ายุงลาย และเตรียมตัวตั้งรับกับไข้เลือดออกได้อย่าง "รู้ทัน"

ที่มา Kids&School

หน้าแรก | โรงเรียน | เนอสเซอรี่ | ติวเข้าสาธิต/สอนเสริม | ลงโฆษณา | เพิ่มข้อมูล ร.ร./เนอสเซอรี่ | ติดต่อเรา